วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

การทำทาน

การทำทาน
เมื่อคนมีความทุกข์ยาก ขาดแคลน ประสบภัย เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม ถูกโจรปล้น เรามักจะสละสิ่งของ เงินทอง เพื่อช่วยผู้ที่มีทุกข์ยากเหล่านั้นให้พ้นทุกข์ การทำเช่นนี้ในทางศาสนาพุทธเรียกว่า ทำทาน พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาถึง สาเหตุที่คนทำทานไว้ ๘ อย่างคือ
๑. พบเข้าก็ให้ทาน
๒. ให้ทานเพราะกลัวอันตราย
๓. ให้ทานเพราะคิดว่าเขาเคยให้แก่เรา
๔. ให้ทานเพราะคิดว่าเขาจะให้แก่เราตอบแทน
๕. ให้ทานเพราะคิดว่าทานเป็นของดี
๖. ให้ทานโดยการตักบาตรเพื่อสงเคราะห์พระภิกษุให้มีอาหารฉัน เพราะมีข้อห้ามไม่ให้พระภิกษุประกอบอาหารฉันเอง
๗. ให้ทานเพราะหวังเกียรติยศชื่อเสียง
๘. ให้ทานเพื่อขัดเกลาจิตใจไม่ให้แข็งกระด้าง น้อมนำเข้าหาธรรมะที่สูงขึ้นได้ง่าย


การให้เพื่อน้อมนำเข้าหาธรรมะนี้ เป็นการให้เพื่อประโยชน์ของการให้เพราะเห็นว่าการให้เป็นการกระทำที่ดี ทำให้ผู้รับได้ประโยชน์ เป็นการให้โดยไม่หวังผลอย่างอื่นนอกจากขจัดความโลภ เท่านั้น ถือว่าเป็นการให้ที่ถูกต้อง การให้อย่างนี้เป็นการให้ที่เรียกว่า สัปปุริสทาน คือทานของคนดี

สัปปุริสทาน มีลักษณะ ๘ ประการ คือ

๑. ให้สิ่งที่บริสุทธิ์ หมายความว่า ให้ของที่ได้มาโดยสุจริต ไม่ใช่ให้ของที่ขโมยเขามา
๒. ให้สิ่งที่ประณีต หมายความว่า ตั้งใจให้ และของที่ให้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด
๓. ให้ในเวลาที่เหมาะ ตามที่เขาต้องการ
๔. ให้สิ่งที่ควรให้ ไม่ให้สิ่งที่เป็นพิษเป็นโทษ
๕. พิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรให้ จึงตัดสินใจให้
๖. ให้อยู่เสมอ ไม่ใช่ให้หนเดียวเลิก
๗. ผู้ให้ต้องมีจิตเลื่อมใส มีความตั้งใจที่จะให้
๘. ให้แล้วรู้สึกอิ่มใจ พอใจที่ได้ให้

การให้ซึ่งมีลักษณะ ๘ ประการดังกล่าวนี้ เป็นการให้ที่ควรให้ การให้ดังนี้เป็นการให้ที่ประเสริฐ ถือว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า


ที่มา : สกุลไทย บทความ-สารคดี
โดย กาญจนา นาคสกุล
ฉบับที่ 2457 ปีที่ 48 ประจำวันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2544

ไม่มีความคิดเห็น: