วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

การทำทาน

การทำทาน
เมื่อคนมีความทุกข์ยาก ขาดแคลน ประสบภัย เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม ถูกโจรปล้น เรามักจะสละสิ่งของ เงินทอง เพื่อช่วยผู้ที่มีทุกข์ยากเหล่านั้นให้พ้นทุกข์ การทำเช่นนี้ในทางศาสนาพุทธเรียกว่า ทำทาน พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาถึง สาเหตุที่คนทำทานไว้ ๘ อย่างคือ
๑. พบเข้าก็ให้ทาน
๒. ให้ทานเพราะกลัวอันตราย
๓. ให้ทานเพราะคิดว่าเขาเคยให้แก่เรา
๔. ให้ทานเพราะคิดว่าเขาจะให้แก่เราตอบแทน
๕. ให้ทานเพราะคิดว่าทานเป็นของดี
๖. ให้ทานโดยการตักบาตรเพื่อสงเคราะห์พระภิกษุให้มีอาหารฉัน เพราะมีข้อห้ามไม่ให้พระภิกษุประกอบอาหารฉันเอง
๗. ให้ทานเพราะหวังเกียรติยศชื่อเสียง
๘. ให้ทานเพื่อขัดเกลาจิตใจไม่ให้แข็งกระด้าง น้อมนำเข้าหาธรรมะที่สูงขึ้นได้ง่าย


การให้เพื่อน้อมนำเข้าหาธรรมะนี้ เป็นการให้เพื่อประโยชน์ของการให้เพราะเห็นว่าการให้เป็นการกระทำที่ดี ทำให้ผู้รับได้ประโยชน์ เป็นการให้โดยไม่หวังผลอย่างอื่นนอกจากขจัดความโลภ เท่านั้น ถือว่าเป็นการให้ที่ถูกต้อง การให้อย่างนี้เป็นการให้ที่เรียกว่า สัปปุริสทาน คือทานของคนดี

สัปปุริสทาน มีลักษณะ ๘ ประการ คือ

๑. ให้สิ่งที่บริสุทธิ์ หมายความว่า ให้ของที่ได้มาโดยสุจริต ไม่ใช่ให้ของที่ขโมยเขามา
๒. ให้สิ่งที่ประณีต หมายความว่า ตั้งใจให้ และของที่ให้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด
๓. ให้ในเวลาที่เหมาะ ตามที่เขาต้องการ
๔. ให้สิ่งที่ควรให้ ไม่ให้สิ่งที่เป็นพิษเป็นโทษ
๕. พิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรให้ จึงตัดสินใจให้
๖. ให้อยู่เสมอ ไม่ใช่ให้หนเดียวเลิก
๗. ผู้ให้ต้องมีจิตเลื่อมใส มีความตั้งใจที่จะให้
๘. ให้แล้วรู้สึกอิ่มใจ พอใจที่ได้ให้

การให้ซึ่งมีลักษณะ ๘ ประการดังกล่าวนี้ เป็นการให้ที่ควรให้ การให้ดังนี้เป็นการให้ที่ประเสริฐ ถือว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า


ที่มา : สกุลไทย บทความ-สารคดี
โดย กาญจนา นาคสกุล
ฉบับที่ 2457 ปีที่ 48 ประจำวันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2544

ทาน แปลว่า อะไร

ทาน แปลว่า การให้ หมายถึงการยกสิ่งที่เป็นของตนให้แก่ผู้อื่น ในทางพระพุทธศาสนาทานเป็นการกระทำที่จัดว่าเป็น กุศลกรรม คือ การทำดี

ในภาษาไทย ทาน หรือ การให้ทาน มักจะมีนัยหมายถึงการให้ทรัพย์สิน เงินทอง ข้าวของเครื่องใช้แก่คนยากจน คนที่มีฐานะด้อยกว่า การให้ความรู้แก่คนที่ไม่รู้ก็เรียกเป็นศัพท์ว่า วิทยาทาน แต่ในทางพระพุทธศาสนา ทาน แปลว่า การให้ เป็นคำที่มีความหมายกว้าง จะให้อะไรแก่ใครก็เรียกว่า ทาน ได้ทั้งนั้น เช่น ของที่ถวายพระภิกษุเรียกว่า ไทยทาน แปลว่าทานสำหรับให้ของที่ตั้งใจให้แก่สงฆ์โดยไม่เจาะจงว่าเป็นรูปใดเรียกว่า สังฆทาน

การให้ทำให้เกิดการเสียสละ เพราะเป็นการตัดความตระหนี่ออกจากใจ จึงเป็นการกระทำที่นับว่าเป็นบารมีประการหนึ่ง เราควรฝึกจิตให้รู้จักการให้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น จะเป็นการให้ทรัพย์สิน ข้าวของ เครื่องใช้ วิชาความรู้ ความช่วยเหลือ ความเอื้ออาทร หรือการให้อภัยก็ได้ การให้ทำให้ขจัดความเห็นแก่ตัว ขจัดกิเลส สังคมเราคงจะเป็นสังคมที่ดี มีความสุข ถ้าเราคิดจะเป็นผู้ให้แทนที่คิดแต่จะเป็นผู้รับ

ที่มา : สกุลไทย บทความ-สารคดี

โดย กาญจนา นาคสกุล

ฉบับที่ 2457 ปีที่ 48 ประจำวันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2544



บุญกิริยาวัตถุ คือ อะไร

การทำบุญ หมายถึง การปฏิบัติเพื่อให้เกิดบุญ เรียกเป็นศัพท์ว่า บุญกิริยาวัตถุ แปลว่า การกระทำซึ่งสามารถให้ผลบุญแก่ผู้กระทำ มี ๑๐ วิธีคือ

๑. ทานมัย หมายถึง การทำทานทำให้ได้บุญ ทาน คือ การให้ การสละทรัพย์สินเงินทอง ความรู้ ความช่วยเหลือ ฯลฯ ให้แก่ผู้อื่นย่อมทำให้ได้ผลตามที่ได้ให้นั้น ให้ทานอย่างไรย่อมได้ผลทานอย่างนั้น เราจึงควรตั้งใจให้สิ่งที่มีคุณ สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ

๒. ศีลมัย หมายถึง การรักษาศีลทำให้ได้บุญ การรักษาศีล หมายถึง การควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ให้เป็นปกติ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ประพฤติร้ายต่อผู้อื่น ย่อมจัดว่าเป็นการกระทำที่ดี เป็นกุศลกรรมจึงทำให้ได้รับผลดี

๓. ภาวนามัย หมายถึง การเจริญภาวนาย่อมทำให้ได้บุญ ภาวนา คือ การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป การบำเพ็ญภาวนาเป็นทางที่ทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้จริงจึงจัดเป็นบุญขั้นสูงสุด

๔. อปจายนมัย (อ่านว่า อะ-ปะ-จา-ยะ-นะ-มัย) หมายถึง บุญที่เกิดจากการประพฤติตนเป็นคนอ่อนน้อม ไม่กระด้าง ไม่ถือดี คนที่เป็นคนอ่อนน้อมย่อมเป็นที่เมตตาของผู้ที่รู้จักและได้พบเห็น ความเมตตานั้นย่อมส่งผลให้ได้รับแต่สิ่งที่ดีงาม จึงจัดเป็นบุญอย่างหนึ่ง

๕. เวยยาวัจจมัย หมายถึง บุญซึ่งได้จากการขวนขวายช่วยกิจการงานของผู้อื่น ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านใกล้เคียงมีกิจการงานอะไรที่พอช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพ หรืองานอื่นๆ ถ้าเราช่วยด้วยความเต็มใจ ก็จะทำให้เกิดความรักใคร่ สามัคคีกัน เกิดความเป็นมิตรต่อกัน เมื่อเรามีความเดือดร้อน มิตรก็จะช่วยเหลือเรา นับเป็นบุญอย่างหนึ่ง

๖. ปัตติทานมัย หมายถึง บุญที่สร้างด้วยการให้ส่วนบุญของตนแก่ผู้อื่น เช่น เวลาที่เราถวายทานแด่พระสงฆ์ เราจะอุทิศส่วนบุญที่เราทำนั้นให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ให้แก่เจ้ากรรมนายเวร ให้แก่เทวดาและสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น การแผ่ส่วนกุศลของตนให้แก่ผู้อื่นดังนี้นับเป็นบุญอย่างหนึ่ง

๗. ปัตตานุโมทนามัย หมายถึง บุญเกิดได้ด้วยการอนุโมทนา คือ การยินดีในบุญที่ผู้อื่น เผื่อแผ่มาให้เรา เป็นการยอมรับในการทำดีของผู้อื่น ยอมรับน้ำใจที่ผู้อื่นเผื่อแผ่มาให้เรา การอนุโมทนาเมื่อมีผู้ตั้งใจแบ่งส่วนบุญให้เรา จึงจัดว่าเป็นบุญด้วย

๘. ธัมมัสสวนมัย (อ่านว่า ธัม-มัต-สะ-วะ-นะ-มัย) หมายถึง บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม ด้วยการหมั่นศึกษาหาความรู้ในทางธรรมะของพระพุทธเจ้าและปฏิบัติตนตามพระธรรมคำสั่งสอนนั้น การฟังธรรมทำให้ได้บุญอย่างหนึ่ง

๙. ธัมมเทสนามัย หมายถึง บุญที่ได้ด้วยการสั่งสอนธรรมะ สอนความรู้ที่มีอยู่ให้ผู้อื่นได้รู้ด้วย ยิ่งมีผู้รู้ธรรมะปฏิบัติธรรมะมากขึ้นเท่าไร โลกก็จะมีแต่คนดี มีแต่คนที่ไม่เบียดเบียนกัน ดังนั้น โลกก็จะเป็นโลกที่สงบสุขยิ่ง การสั่งสอนธรรมะให้ผู้อื่นจึงจัดว่าเป็นบุญอย่างหนึ่ง

๑๐. ทิฏฐุชุกรรม หมายถึง บุญที่เกิดจากการที่คิดให้ถูกให้ตรงตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา การที่ไม่ทำนอกรีตนอกรอย นอกแบบพระพุทธศาสนาย่อมได้บุญ แม้คนที่นับถือศาสนาอื่น ถ้าเราช่วยเหลือ ไม่เบียดเบียนทำร้ายเขาก็ถือว่า เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดบุญได้เช่นเดียวกัน

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า การทำบุญ คือ การให้หรือถวายสิ่งของแก่พระภิกษุสงฆ์เท่านั้น แท้จริงแล้ว การทำบุญสามารถทำได้ถึง ๑๐ วิธี การให้สิ่งของเป็นเพียงการทำบุญวิธีหนึ่งเท่านั้น พุทธศาสนิกชนควรพยายามทำบุญให้ได้ครบทั้ง ๑๐ วิธี เพื่อให้เกิดความสงบสุขทั้งแก่ตนเองและแก่สังคม

ที่มา : สกุลไทย บทความ-สารคดี
โดย กาญจนา นาคสกุล
ฉบับที่ 2457 ปีที่ 48 ประจำวันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2544

มาทำบุญกันเถอะ

การทำบุญ คือ การทำความดี, การประกอบกรรมดี, การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเพิ่มพูนความดี และเพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ได้ออกไปจากใจ


ทำบุญ ในคำวัดหมายถึงการทำสิ่งที่เป็นบุญ กล่าวกว้างๆ วิธีทำบุญมี 3 วิธีคือ

1 ให้ทาน เช่นทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ ถวายสังฆทาน


2. รักษาศีล เช่นรักษาศีลห้า, ศีลแปด

3. เจริญภาวนา เช่น ทำสมาธิอบรมใจ ปฏิบัติกรรมฐาน



นอกจากนี้ยังมีวิธีทำบุญอีก 7 อย่าง คือ "บุญกิริยาวัตถุ" รวมเป็น 10 อย่าง


ทำบุญ ในปัจจุบันมักเข้าใจเพียงว่าตักบาตร ถวายสังฆทาน ถวายเงินให้วัดเท่านั้นจึงจะชื่อว่าทำบุญ แท้จริงการทำเช่นนั้นเป็นการทำบุญเพียง 1 อย่างใน 10 อย่างเท่านั้น



ที่มา : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อ้างอิง : พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548